EA โปรแกรมช่วยเทรด Forex

EA คืออะไร

EA หรือ Expert Advisors คือ โปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อช่วยในการเทรด Forex หรือก็คือ Bot นั่นเอง สำหรับเทรดเดอร์ที่มีทักษะในการเขียนโปรแกรม ก็สามารถเขียนโค้ดคำสั่งในแบบฉบับของตัวเอง และติดตั้งบน MT4 (MetaTrader 4) และ MT5 (MetaTrader 5) ได้เลย แล้วปล่อยให้ Bot ทำการเทรดให้อัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องมาเสียเวลาเฝ้าหน้าจอ

ส่วนเทรดเดอร์ที่เขียนโปรแกรมไม่เป็น คุณสามารถหา EA โหลดมาใช้ได้เลย มีทั้งแบบฟรีและเสียเงิน ซึ่งมีรูปแบบให้เลือกหลากหลาย แตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน เช่น EA ที่ใช้เทรดได้ทุกสกุลเงิน แต่อย่าลืมทดสอบกับบัญชี Demo ก่อนทุกครั้ง เนื่องจากคุณไม่ได้เขียนเอง จึงควรศึกษาทำความเข้าใจข้อดี ข้อเสียก่อน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจะเกิดขึ้นได้

และไม่แนะนำให้เทรดเดอร์มือใหม่ที่ความรู้พื้นฐานยังไม่แน่นใช้ EA เพราะโปรแกรมแต่ละตัวอาจไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับทุกสภาวะตลาด หากเศรษฐกิจเกิดความเปลี่ยนแปลง คุณอาจจะไม่รู้ว่าเมื่อไรควรปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเทรด ส่งผลให้ขาดทุน อาจถึงขั้นล้างพอร์ตได้เลย

ขั้นตอนการเลือก EA

EA สามารถช่วยให้คุณเทรดได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเลือกใช้ได้ถูกต้องและเหมาะสมกับสไตล์การลงทุน โดยมีขั้นตอนการเลือก ดังนี้

  1. หาอ่านรีวิวก่อน จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อตรวจสอบรูปแบบการทำงาน และผลการเทรด
  2. ตรวจสอบผล Back Test ย้อนหลัง ยิ่งมีผลย้อนหลังให้ตรวจสอบมาก ยิ่งน่าเชื่อถือและเพิ่มโอกาสในการทำกำไร
  3. ศึกษาการทำงานของ EA อย่างละเอียด หาคำตอบให้หมดข้อสงสัย อาจสอบถามโดยตรงไปยังผู้พัฒนา
  4. ทดสอบกับบัญชี Demo อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อศึกษาและดูผลลัพธ์อย่างละเอียด
  5. นำ EA ที่ผ่านการคัดเลือกแล้วมาทดสอบเปรียบเทียบ เพื่อหา EA ที่ดีและเหมาะสมกับคุณที่สุด

ข้อดีและข้อเสียของการใช้ EA

ข้อดี
• มีเวลาว่างมากขึ้น เพราะไม่ต้องนั่งเฝ้าหน้าจอ Bot ช่วยเทรดให้อัตโนมัติตามกลยุทธ์ที่ตั้งค่าไว้
• เทรดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากตัดเรื่องการใช้อารมณ์ในการเทรดไป
• ช่วยทำกำไรได้สม่ำเสมอ มีรายได้แบบ Passive Income
• ปรับแต่งโปรแกรมการเทรดได้หลากหลาย และเหมาะสมกับสไตล์การเทรดของตนเอง
ข้อเสีย
• ไม่เหมาะกับเทรดเดอร์มือให้ ที่ขาดเข้าใจพื้นฐานการเทรด
• หากใช้ EA ที่คนอื่นเขียน และไม่ได้เข้าใจหรือศึกษาการทำงานอย่างละเอียด ว่า EA นั้นๆ เหมาะกับการใช้งานแบบใด มีโอกาสขาดทุนสูง
• ช่วงข่าวแรงๆ EA ส่วนใหญ่ จะโดนล้างพอร์ต
• ทักษะการเทรดของคุณอาจไม่พัฒนา เพราะไม่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง

Timeframe คืออะไร?

Timeframe คือ

Timeframe หรือเรียกกันย่อๆ TF คือ กรอบเวลา ที่แสดงการเคลื่อนไหวของราคา ในรูปแบบของแท่งเทียน (Candles) หรือบาร์ (Bars) ซึ่งถูกแบ่งตามช่วงเวลาต่างๆ เช่น

TF M30หมายถึง การเคลื่อนไหว 1 แท่งเทียน ในเวลา 30 นาที
TF H4หมายถึง การเคลื่อนไหว 1 แท่งเทียน ในเวลา 4 ชั่วโมง
TF D1หมายถึง การเคลื่อนไหว 1 แท่งเทียน ในเวลา 1 วัน
TF W1หมายถึง การเคลื่อนไหว 1 แท่งเทียน ในเวลา 1 สัปดาห์
TF MNหมายถึง การเคลื่อนไหว 1 แท่งเทียน ในเวลา 1 เดือน

วิธีเลือก TF ให้เหมาะสมกับการเทรด

การดู Timeframe และเข้าเทรดนั้น ให้เทรดเดอร์เลือกเข้าและออกใน TF เดียวกัน อย่างมองหลาย TF สลับไปมา ป้องกันการสับสนจนอาจจะหลงเทรนด์ได้ โดย

  • เทรดเดอร์ระยะสั้น: ที่มีเวลาดูกราฟบ่อยๆ หรือตลอด ควรเลือกเล่นใน TF M1 – M5 แต่ควรเลือกใช้เพียงหนึ่ง TF เท่านั้น
  • เทรดเดอร์รายวันและระยะกลาง: ที่ทำการเทรดหลายชั่วโมง – สองสามวัน อาจเลือกใช้ TF M30, H1, H4, D1
  • เทรดเดอร์ระยะยาว: ไม่ค่อยมีเวลาดูกราฟ ซื้อขาย ถือไว้เป็นเวลานานเป็นสัปดาห์ถึงหลายเดือน ควรเล่นใน TF ที่มีช่วงเวลาที่ยาวมากขึ้นตามไปด้วย ได้แก่ MN และ W1 จะทำให้การเทรดได้ผลดีกว่า และอาจใช้ TF D1 ประกอบในการหาจุดเข้าเทรด
  • เทรดเดอร์มือใหม่: แนะนำ TF H4 ขึ้นไป เนื่องจากจะช่วยให้เห็นแนวโน้มทิศทางของตลาดที่ชัดเจนกว่า

Risk on / Risk off

ขึ้นชื่อว่าการลงทุนก็มักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ แต่หากไม่ลงทุนอาจเสี่ยงกว่า ทุกคนคงจะเคยได้ยินคำพูดประมาณนี้กันมาบ้าง วันนี้เลยจะมาแนะนำคำศัพท์เกี่ยวกับ ความเสี่ยง (Risk) กัน

ในการเข้าเทรดแต่ละครั้ง เทรดเดอร์จะต้องดูสภาวะของตลาด การเคลื่อนไหวของราคา และควรดู ‘ความเสี่ยง’ ของโอกาสในการขาดทุนด้วย ไม่ใช่ดูแต่โอกาสทำกำไรเท่านั้น ซึ่งความเสี่ยงสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ ได้แก่

1. Risk on

  • คือ ค่าความเสี่ยงต่ำ
  • ส่งผลให้เทรดเดอร์ กล้าเทรดมากขึ้น
  • กล้าที่จะเข้าเทรดในการซื้อขายที่มีความเสี่ยงสูง
  • จะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดี ตลาดหุ้นพุ่งสูง

2. Risk off

  • คือ ค่าความเสี่ยงสูง
  • ส่งผลให้เทรดเดอร์ กลัวและเทรดอย่างระมัดระวัง
  • และเลือกเข้าเทรดในการซื้อขายที่มีความเสี่ยงต่ำแทน
  • จะเกิดในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง ไม่มั่นคง เศรษฐกิจมีการชะลอตัว ตลาดหุ้นร่วง

เมื่อสามารถประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ว่าต่ำหรือสูง ก็จะช่วยให้ตัดสินใจเข้าเทรดได้ถูกจังหวะ ลดโอกาสในการขาดทุน และทำกำไรได้ แต่นอกจากการประเมินความเสี่ยงแล้ว เทรดเดอร์ควรใช้เทคนิคอื่นในการช่วยลดความเสี่ยงในการขาดทุนประกอบด้วย เช่น การใช้ Stop Loss พร้อมกับหมั่นติดตามข่าวสารสำคัญต่างๆ ด้วย

สิ่งที่ต้องรู้ เพื่อเลือกโบรกเกอร์ Forex ที่ใช่

การลงทุนในตลาด Forex คุณจะต้องดำเนินการผ่านโบรกเกอร์เท่านั้น ไม่สามารถเทรดกับตลาดโดยตรงได้ เพราะฉะนั้นเหล่าเทรดเดอร์จะต้องเลือกโบรกเกอร์ให้ดี ซึ่งการที่จะเลือกได้นั้น จะต้องรู้สิ่งเหล่านี้ก่อน

ประเภทบัญชี

ดูว่าแต่ละโบรกเกอร์มีบัญชีแบบไหนน่าสนใจ และเหมาะสมกับสไตล์ลงทุนของคุณ โดยทั่วไปจะต่างกันที่มูลค่าของบัญชี เช่น บัญชีแบบ Standard, Mini, Micro เป็นต้น

ความน่าเชื่อถือของโบรกเกอร์

ก่อนจะเลือกว่าจะเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ไหน ควรตรวจสอบ พร้อมเปรียบเทียบความน่าเชื่อถือของแต่ละโบรกเกอร์ โดยสามารถดูได้จาก

  • ประเภทโบรกเกอร์ : โบรกเกอร์แบ่งได้ 2 ประเภทหลัก คือ
    1. Dealing Desk (DD) : รับออเดอร์มาจับคู่เองภายใน ไม่ส่งคำสั่งไปที่ตลาด แต่ค่าบริการถูก
    2. Non-Dealing Desk (NDD) : เป็นเพียงตัวกลาง รับออเดอร์ ส่งตรงไปยังตลาด มีค่าบริการสูงกว่า แต่น่าเชื่อถือกว่า
  • หน่วยงานกำกับดูแล : เช็คอันดับความน่าเชื่อถือและกฎการทำงานของหน่วยงานว่ามีความเข้มงวดมากน้อยเพียงใด และตรวจสอบใบอนุญาต (License) ที่โบรกเกอร์ได้รับว่ามีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง หน่วยงานกำกับดูแลที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น FCA, ASIC, CySEC, NFA

บัญชีเงินลงทุนแยกออกชัดเจน

โบรกเกอร์ที่มีการจดทะเบียนและทำตามกฎเกณฑ์ถูกต้อง จะต้องแยกบัญชีลงทุนออกจากบัญชีของบริษัทอย่างชัดเจน ไว้กับธนาคารของประเทศที่มีกฎหมายการเงินที่มั่นคง และสามารถเปิดเผยเลขบัญชีให้ลูกค้าทราบได้ เพื่อป้องกันการนำเงินไปใช้ในทางที่ผิด

ค่าธรรมเนียม

เทรดเดอร์ควรตรวจสอบค่าธรรมเนียม รวมถึงค่าบริการต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อนการตัดสินใจ เนื่องจากอาจะแตกต่างกันไปในแต่ละโบรกเกอร์ และค่าธรรมเนียมบางอย่างคุณอาจจะใช้บ่อย หรือไม่ได้ใช้เลย ก็ไม่ควรจะต้องเสียประโยชน์ไปในส่วนนี้ ตัวอย่างค่าธรรมเนียมที่น่าจะใน เช่น

  • ค่า Spread : แต่ละโบรกเกอร์จะมีค่า Spread หรือค่าส่วนต่างของราคา Bid, Ask ไม่เท่ากัน ซึ่งค่า Spread ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลัก ที่ต้องใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกโบรกเกอร์เลยทีเดียว เพราะเป็นค่าธรรมเนียมที่เราต้องจ่ายทุกครั้งเมื่อมีการปิดออเดอร์ ทั้งออเดอร์ Buy และ Sell
  • ค่า Swap Fees : หากมีการถือออเดอร์ข้ามคืน จะต้องให้ความสำคัญกับค่า Swap Fees เนื่องจากโบรกเกอร์จะทำการเลื่อนวันทำรายการคำสั่งเป็นวันปัจจุบัน (Rollover) ให้คุณอัตโนมัติ ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมในส่วนนี้เกิดขึ้น เทรดเดอร์จึงควรเลือกว่าต้องการเปิดบัญชีแบบมีค่า Swap Fees หรือไม่ ซึ่งอาจจะมีให้เลือกในบางโบรกเกอร์เท่านั้น
    • บัญชีคิดค่า Swap : เหมาะกับเทรดเดอร์ระยะกลาง หรือยาว เพราะไม่ต้องเสียค่า Swap สำหรับการถือข้ามคืน
    • บัญชี Swap Free (ไม่คิดค่า Swap) : เหมาะกับเทรดเดอร์ระยะสั้น หรือรายวัน เพราะค่าธรรมเนียมการเทรดแต่ละครั้งจะมีค่า Commission ที่ถูกกว่า และคุณไม่ได้จะถือข้ามคืนอยู่แล้ว

เครื่องมือสำหรับการเทรด

แต่ละโบรกเกอร์จะมีเครื่องมือให้คุณเลือกใช้สำหรับการเทรดอย่างหลากหลาย แต่ที่นิยมใช้กันส่วนใหญ่ที่ ได้แก่ MetaTrader4 (MT4), MetaTrader5 (MT5), cTrader, WebTrader เป็นต้น ซึ่งใช้ได้ทั้งบนโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ เทรดเดอร์ควรศึกษาและเลือกใช้ให้เหมาะกับสไตล์การลงทุนของคุณ เช่น

  • MT4 เหมาะกับการลงทุน Forex และทองคำ
  • MT5 เหมาะกับเทรดเดอร์ที่สนใจสินค้าหลากหลาย ที่นอกเหนือจาก Forex เช่น หุ้น, ฟิวเจอร์, ดัชนีรวม

การช่วยเหลือและบริการลูกค้า

อีกสิ่งที่หลายคนอาจมองข้ามคือ การบริการและการให้ความช่วยเหลือจากโบรกเกอร์ ควรศึกษาและสอบถามโบรกเกอร์ถึงการบริการในส่วนนี้ เผื่อไว้สำหรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในวันข้างหน้า ซึ่งในแต่ละโบรกเกอร์ก็จะมีเงื่อนไขแต่ต่างกันไป เช่น เวลาทำการ 24 ชั่วโมงไหม, ช่องทางการฝาก-ถอน มีที่คุณสะดวกหรือต้องการไหม, การแนะนำช่วยเหลือในเรื่องระบบการซื้อขาย เป็นต้น

เทรด Forex อย่างไรให้ได้รับเงินคืน (Rebate / Cashback)

ในบางโบรกเกอร์มีบริการส่งเสริมการขายให้แก่เทรดเดอร์ ที่มาเปิดบัญชีและทำการเทรด โดยจะทำการคืนเงินบางส่วนจากรายได้ เช่น ค่า Spread, ค่า Swap และค่า Commission อาจจ่ายคืนในรูปแบบ เงินคืน เงินสด หรือส่วนลด ก็ได้แล้วแต่โปรโมชั่นของโบรกเกอร์นั้นๆ ซึ่งบัญชีแบบมีเงินคืนนี้ ไม่ได้มีการคิดค่า Commission และค่า Spread แพงขึ้นกว่าปกติแต่อย่างใด

โดยเงินคืนในส่วนนี้ มีคำเรียกที่แตกต่างกันไป ตามบุคคลที่เป็นผู้ให้เงินคืน

Rebate

คือ เงินที่ IB (Introducing Broker) เป็นผู้จ่ายคืนให้กับเทรดเดอร์ที่เปิดบัญชีผ่านลิงก์แนะนำของตนเอง

Cashback

คือ เงินที่โบรกเกอร์ เป็นผู้จ่ายคืนให้กับเทรดเดอร์เอง สำหรับเทรดเดอร์ที่เปิดบัญชีผ่านโบรกเกอร์โดยตรง

ซึ่งไม่ว่าเทรดเดอร์จะทำการเทรดได้กำไร หรือขาดทุน ก็ยังได้รับเงินคืนในส่วนนี้ ตราบเท่าที่ยังทำการซื้อขายอยู่ โดยอัตรา วิธีการคำนวณ และวันในการจ่ายคืนขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละโบรกเกอร์

Requote & Off quotes

Requote

คือ การที่เทรดเดอร์เปิดคำสั่ง Buy หรือ Sell แต่เซิร์ฟเวอร์ขึ้น pop-up แจ้งว่า ราคามีการเปลี่ยนแปลง และให้เลือกทำรายการต่อในราคาใหม่ หรือปฎิเสธ

สาเหตุของการเกิด Requote

  • ความเร็วอินเทอร์เน็ต อาจจะทั้งของ Server และเครื่องของเราเอง
  • การเทรดในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนของราคาสูง เช่น ช่วงตลาดลอนดอน หรือ อเมริกาเปิด, เมื่อมีข่าวสำคัญๆ
  • ประเภทบัญชีที่เลือกเปิด
  • โปรแกรมเทรด (MT4/MT5) ไม่สมบูรณ์ หรือเสียหาย

แนวทางแก้ไขการเกิด Requote

  • ใช้สาย LAN
  • เลี่ยงการเทรดช่วงที่มีข่าวสำคัญ หากความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่แรงพอ
  • เพิ่มสเปคคอมพิวเตอร์ หรือใช้คอมหลายตัว เช่น เปิดข่าวและเปิดโปรแกรมเทรด แยกกัน
  • เปลี่ยนบัญชีการเทรดจาก Mini เป็น ECN จะไม่มีปัญหา Requote เลย เพราะมีการส่งคำสั่งไปยังธนาคารกลางโดยตรง
  • ใช้วิธี Pending Order, ตั้ง Take Profit และ Stop Loss
  • ตั้งค่า Maximum Deviation ใน MT4 เพื่อเปิดหรือปิดคำสั่งอัตโนมัติ เมื่อราคาเปลี่ยนแปลงจากที่ส่ง ตามจำนวนจุดที่กำหนดไว้

ข้อควรระวัง! กรณีที่ใช้ EA ปิดคำสั่งเอง โดยไม่ได้ใช้ Take Profit หรือ Stop Loss ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าดำเนินตามคำสั่งสำเร็จหรือไม่ เพราะ EA ที่ขายบางตัวไม่มีการตั้งค่าสำหรับกรณีเจอ Requote เอาไว้ อาจทำให้เทรดเดอร์ขาดทุนได้


Off quotes

คือ การที่ตลาดยังไม่มีราคาใหม่ และราคาล่าสุดก็ไม่สามารถใช้เป็นราคาตลาดได้ โดยเมื่อเทรดเดอร์เปิดคำสั่งด้วยราคาดังกล่าว เซิร์ฟเวอร์จะแจ้งข้อความ Off quotes เพื่อปฏิเสธการดำเนินการ

ช่วงเวลาที่มักเกิด Off quotes เมื่อตลาดมีสภาพคล่องต่ำ

  • ช่วงเริ่มเปิดตลาด
  • ใกล้ปิดตลาด
  • เมื่อมีการประกาศข่าวสำคัญ

ทำอย่างไร? หากไม่ต้องการให้เกิด Off quotes

  • หลีกเลี่ยงการเทรดในช่วงที่ตลาดมีสภาพคล่องต่ำและผันผวนสูง
  • หลีกเลี่ยงการเทรดด้วยเครื่องมือทางการเงินนั้นๆ ในสภาพคล่องต่ำ หรือตรวจสอบก่อนว่าสามารถเทรดได้

Swap Fees คืออะไร?

Swap Fees คือ

ค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ Rollover เมื่อมีการถือคำสั่งข้ามคืน โดยค่าธรรมเนียมมีการคำนวณมาจากผลต่างของอัตราดอกเบี้ยของคู่เงินที่คุณถือ ซึ่งค่า Swap นี้เป็นไปได้ทั้งค่าบวกและค่าลบ และจะถูกเพิ่มหรือหักจากบัญชีของคุณอัตโนมัติ เมื่อปิดออเดอร์

ค่า Swap ถูกคิดเวลาใด

จะมีการคำนวณค่า Swap ทุกวันหลัง 5.00 p.m. EST ที่ตลาดนิวยอร์กปิด

สูตรคำนวณ Swap
Swap = [ one point / exchange rate ] x lot contract size x swap value

วิธีตรวจสอบค่า Swap

แต่ละคู่สกุลเงินจะมีค่า Swap แตกต่างกัน ซึ่งคุณสามารถตรวจสอบเรทได้จากโปรแกรม MT4 หรือ MT5 ที่เมนู Specification โดยคุณจะพบค่าดังนี้

Swap Longค่าธรรมเนียมเมื่อถือออเดอร์ Buy ข้ามคืน
Swap Shortค่าธรรมเนียมเมื่อถือออเดอร์ Sell ข้ามคืน
3-Days Swapค่าธรรมเนียมเป็น 3 เท่าในคืนวันพุธ

จากตารางจะเห็นว่าในคืนวันพุธมีการคิดค่า Swap เป็น 3 เท่า เนื่องจากมีการนำวันหยุดเสาร์อาทิตย์มาคิดทบรวมด้วย ซึ่งหากในสัปดาห์มีวันหยุดเพิ่มเติมอีก ค่า Swap ก็จะมีอัตราที่สูงขึ้นตามไปด้วย

เลือกเปิดบัญชีแบบ Swap Free ดีไหม?

ปัจจุบันในหลายโบรกเกอร์เปิดโอกาสให้คุณได้เลือกเปิดบัญชีได้ทั้งแบบ

  • บัญชีคิดค่า Swap
  • บัญชี Swap Free (ไม่คิดค่า Swap)

ซึ่งหากถามว่าเลือกเป็นบัญชีแบบ Swap Free ดีไหมนั้น ก็ขอตอบว่า ดี หากคุณเป็นเทรดเดอร์ระยะกลาง หรือระยะยาว เพราะการเปิดบัญชีประเภทนี้ คุณจะไม่ต้องเสียค่า Swap สำหรับการเปิดออเดอร์ข้ามคืน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาคำนวณค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ และผลการเทรดของคุณจะออกมาดีกว่า

แต่หากคุณเป็นเทรดเดอร์ระยะสั้น หรือรายวัน ควรเปิดบัญชีแบบคิดค่า Swap เนื่องจากในการเทรดแต่ละครั้งโบรกเกอร์จะคิดค่า Commission ในอัตราที่ถูกกว่านั่นเอง

หมายเหตุ: บัญชีอิสลามได้รับยกเว้นค่า Swap อัตโนมัติ เนื่องจากหลักทางศาสนา

Rollover คืออะไร?

ใครที่กำลังวางแผนเปิดคำสั่งซื้อขายทิ้งไว้ข้ามคืน อย่ามองข้าม Rollover เพราะคุณอาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียม โดยไม่รู้ตัว!

Rollover คือ

กระบวนการที่โบรกเกอร์เลื่อนวันทำรายการคำสั่งซื้อของคุณ ที่มีการถือข้ามคืน มาเป็นวันล่าสุด โดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจจะทำให้คุณได้รับ หรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียม (Swap) โดยกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นทุกวันหลัง 5.00 p.m. EST ที่ตลาดนิวยอร์กปิด

ไม่มีการ Rollover ในวันหยุด แต่จะมีการเพิ่มทดแทนก่อนวันหยุด

ใช้ Rollover อย่างไรให้เกิดประโยชน์?

  • ถ้าแนวโน้ม Swap จะติดลบ ให้ปิดตำแหน่งก่อน 5.00 p.m. EST
  • ถ้าแนวโน้ม Swap จะเป็นบวก และต้องการเทรดต่อ ให้ถือสถานะทิ้งไว้

ข้อควรระวัง

  • สำหรับคนที่วางแผนซื้อขายข้ามคืน ให้ระวังอัตราของ Rollover ที่อาจมีความผันผวนรุนแรง โดยควรหมั่นตรวจสอบปฏิทินของธนาคารกลางอยู่เสมอ ว่ามีเหตุกาณ์ใดที่อาจส่งผลกระทบได้หรือไม่

เช็ค “หน่วยงานกำกับดูแลโบรกเกอร์ Forex” ของคุณแล้วหรือยัง?

ก่อนจะเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ คุณได้เช็คสิ่งเหล่านี้หรือยัง โบรกเกอร์มีใบอนุญาตถูกต้อง? ได้รับการควบคุมดูแลโดยองค์กรที่น่าเชื่อถือหรือไม่? มาเช็คกันให้ชัวร์ จะได้เทรดอย่างมั่นใจ ไร้กังวลเรื่องทุจริตหรือฉ้อโกง

หน่วยงานกำกับดูแลโบรกเกอร์ Forex (Forex Regulator)

คือ หน่วยงานที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาล มีมาตรฐานสูงและเข้มงวด โดยทำหน้าที่ ดังนี้

  • กำกับดูแล และคอยตรวจสอบ โบรกเกอร์ Forex ไม่ให้เกิดทุจริตหรือฉ้อโกง
  • ออกใบอนุญาต (License) ให้กับโบรกเกอร์
  • บังคับใช้กฎ ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละแห่ง
  • ควบคุมสัญญาซื้อขายส่วนต่าง (CFD) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Future)
  • ฟ้องร้องและลงโทษ หากมีการทุจริตหรือฉ้อโกง

ตัวอย่างหน่วยงาน

FCA

ชื่อเต็ม: Financial Conduct Authority
ประเทศ: 🇬🇧 สหราชอาณาจักร

  • ถือเป็นองค์กรที่มีความเข้มงวด และมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก
  • เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area) และ MiFID
  • ได้รับการยกย่องว่ามีระบบการกำกับดูแลที่ดีเยี่ยม
  • ป้องกันการทุจริต หลอกลวงและฉ้อโกง จากโบรกเกอร์ และหน่วยงานทางการเงิน

ASIC

ชื่อเต็ม: Australian Securities and Investments Commission
ประเทศ: 🇦🇺 ออสเตรเลีย

  • เป็นหน่วยงานที่เก่าแก่ที่สุดในตลาดของออสเตรเลีย
  • มีชื่อเดิมว่า ASC (Australian Securities Commission)
  • ต่อต้านการทุจริตทางการเงินและในตลาดทุน
  • โบรกเกอร์นิยมเลือกจดทะเบียนกับ ASIC เพราะไม่จำกัดการเทรดรูปแบบ Hedging และ Scalping
  • ไม่มีกฎ FIFO

CySEC

ชื่อเต็ม: Cyprus Securities and Exchange Commission
ประเทศ: 🇨🇾 สาธารณะไซปรัส

  • ใช้มาตรฐานของ MiFID หน่วยงานควบคุมด้านการเงินของสหภาพยุโรป
  • กำกับดูแลธุรกรรมการเงินและบริการทางการเงิน หรือสินทรัพย์ที่เปลี่ยนมือได้

NFA

ชื่อเต็ม: National Futures Association
ประเทศ: 🇺🇸 สหรัฐอเมริกา

  • เป็นหน่วยงานที่เข้มงวดสูงมาก
  • ดูแลการซื้อขายสินทรัพย์ในตลาดอนุพันธ์, Forex, OTC Derivatives
  • ปกป้องนักลงทุนจากการทุจริต ทั้งการซื้อขายอนุพันธ์ Forex และ ETFs
  • การจะให้บริการกับลูกค้าในสหรัฐฯ ต้องจดทะเบียนกับ NFA เท่านั้น

นอกจากตัวอย่างหน่วยงานที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นๆ อีกมากจากหลากหลายประเทศ ที่จะช่วยกำกับดูแลโบรกเกอร์ให้เกิดความโปร่งใส เพื่อช่วยให้คุณเทรดได้อย่างมั่นใจ เพราะฉะนั้นก่อนเปิดบัญชีเทรดกับโบรกเกอร์ไหน ก็อย่าลืมตรวจสอบดูก่อนว่ามีการจดทะเบียนกับหน่วยงานที่น่าเชื่อถือหรือไม่ แล้วสำหรับใครที่ยังไม่เคยเช็ค รีบเลย!

ภูเขาน้ำแข็งแห่งความสำเร็จของการเทรด

องค์ประกอบของความสำเร็จในการเทรดที่หลายคนเห็นบริเวณด้านบนของภูเขาน้ำแข็ง คงจะหนีพ้นเรื่องของระบบและเทคนิคการเทรด แต่รู้หรือไม่ว่าที่คุณเห็นนี้เป็นเพียง 15% เท่านั้น แล้วส่วนที่มองไม่เห็นและถูกซ่อนอยู่ด้านใต้นั้นคืออะไรกัน?

มาเริ่มกันที่ส่วนที่อยู่ล่างสุด แต่มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 กันก่อนเลย นั่นก็คือ

50% วินัย อดทน ควบคุมตนเอง

คุณไม่มีอำนาจควบคุมตลาด แต่หนึ่งสิ่งที่คุณควบคุมได้คือ ตัวคุณเอง วินัยและความอดทนนี่แหละที่ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างมากในเทรดเดอร์แต่ละคน เมื่อมีวินัยคุณก็จะรู้ว่าเมื่อไรควรทำอะไร ควรหาความรู้เพิ่มเติม ควรวางแผน หรือต้องทำอย่างไรที่จะนำทางไปสู่ความสำเร็จได้

35% การบริหารความเสี่ยง การบริหารเงิน

หากไม่รู้จักบริหารเงินทุนและความเสี่ยงแล้ว ถึงจะอ่านการเคลื่อนไหวของราคาออก ก็ยังอาจขาดทุนได้อยู่ดี

15% ระบบ เทคนิคการเทรด

เครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์และคาดคะเนการเคลื่อนไหวของราคาตลาด

ทั้ง 3 องค์ประกอบล้วนแล้วแต่มีความสำคัญกับการเทรดทั้งสิ้น ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ แต่นักเทรดมือใหม่ควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบที่มีน้ำหนักมากที่สุดก่อน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่นี้เริ่มต้นได้ที่ตัวเรา หากมีวินัยโอกาสประสบความสำเร็จก็สูงขึ้นตามไปด้วย